จากพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช พ.ศ.๒๕๕๓ มาตรา ๖ กำหนดให้มหาวิทยาลัย เป็นสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาที่กรุงเทพมหานครจัดตั้งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ให้การศึกษา บริการวิชาการ ผลิตงานวิจัย สร้างและพัฒนาวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง รวมทั้งเผยแพร่ความรู้ด้านการแพทย์ การสาธารณสุข การบริหารจัดการเขตเมือง การปกครองส่วนท้องถิ่น การพัฒนามหานคร การทำนุบำรุงศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น สิ่งแวดล้อม และกีฬา โดยคำนึงถึงประสบการณ์และความพร้อมในด้านต่าง ๆ  ที่เป็นเอกลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร   เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนและเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช มีการจัดการศึกษาหลักสูตรทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ๒ หลักสูตรหลัก  ได้แก่ หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล และพยาบาลศาสตรบัณฑิต  คณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์ ซึ่งเป็นการดำเนินการต่อเนื่องของส่วนงานเดิม ที่มีพื้นฐานทั้งด้านองค์ความรู้ การจัดการเรียน การสอน นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ และสถานที่ฝึกงานสำหรับหลักสูตรอื่นๆ ของมหาวิทยาลัยเอง และหลักสูตรทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพจากมหาวิทยาลัยภายนอกทั้งภาครัฐและเอกชน แต่อย่างไรก็ตาม การผลิตเฉพาะบัณฑิตแพทย์และพยาบาล ยังไม่ครอบคลุมตามวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยในด้านการแพทย์ การสาธารณสุข การบริหารจัดการเขตเมือง การปกครองส่วนท้องถิ่น การพัฒนามหานคร

ปัญหาชุมชนเขตเมือง อันเกิดจากการขยายขนาดของเขตเมืองและแนวโน้มการเคลื่อนย้ายของประชากรเข้าสู่เขตเมือง รวมทั้งการพัฒนาทางเทคโนโลยีต่างๆ ส่งผลให้วิถีการดำเนินชีวิตของประชาชนในเขตเมืองเปลี่ยนไป ทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพและสาธารณสุขในรูปแบบใหม่ขึ้น เช่น ปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุและผู้พิการในเขตเมือง สุขภาพจิตของประชาชนที่สื่อสารอยู่ในโลกสารสนเทศ ปัญหาทางสุขภาพของกลุ่มชนด้อยโอกาสในเขตเมือง ปัญหาจราจร ภัยพิบัติและความปลอดภัยในจากการพักอาศัยและทำงานอยู่ในอาคารสูง หรือแม้แต่ความเสี่ยงจากการทำงานในสถานพยาบาล ปัญหามลภาวะในอากาศ ฝุ่นละออง การปนเปื้อนของสารเคมีในอาหาร ซึ่งปัญหาเหล่านี้ส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในเขตเมืองและบุคลากรผู้ให้บริการทั้งภาครัฐและภาคเอกชน การเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ โดยเฉพาะในภาวะวิกฤติฉุกเฉินที่เกิดจากอุบัติเหตุ ซึ่งจะต้องอาศัยความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่มีองค์ความรู้เฉพาะเจาะจงในการจัดการแก้ไขปัญหาดังกล่าว นอกจากนี้ยังมีปัญหาสาธารณภัยทั้งที่เกิดจากภัยธรรมชาติ และอุบัติภัยที่เกิดจากมนุษย์สร้างขึ้น เช่น อุทกภัยขนาดใหญ่ แผ่นดินไหว เหตุการณ์สารเคมีรั่วไหลจากนิคมอุตสาหกรรม เหตุการณ์ไฟไหม้บ่อขยะขนาดใหญ่ ความขัดแย้งที่นำไปสู่การชุมนุมทางการเมืองหรือภัยจากการก่อวินาศกรรมซึ่งเคยเกิดขึ้นในประเทศไทย และมีโอกาสขยายความรุนแรงจนถึงขั้นภัยพิบัติได้ ด้วยเหตุนี้เมืองมหานครขนาดใหญ่จึงจำเป็นต้องมีบุคลากรที่มีองค์ความรู้เฉพาะด้านศาสตร์เขตเมืองและกระบวนการที่มีประสิทธิภาพสูงในการจัดการปัญหาเหล่านี้ ทั้งด้านการป้องกัน เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ และการฟื้นฟูสภาพหลังเกิดปัญหาไว้รองรับปัญหาดังกล่าวมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เป็นสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของกรุงเทพมหานคร จึงมีบทบาทหน้าที่ในการผลิตบุคลากรสายปฏิบัติการเพื่อช่วยแก้ปัญหาของเมือง และทำงานวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ในการพัฒนาระบบการ

ปฏิบัติงานในสถานพยาบาล ระบบบริการทางการแพทย์ในภาวะฉุกเฉิน (Emergency Medical Service system) และการจัดการทางการแพทย์ในสถานการณ์ภัยพิบัติ ( Disaster Medicine) เพื่อสร้างคลังความรู้ที่จำเป็นและสามารถเสนอแนวทางในการรับมือภัยพิบัติเขตเมืองในรูปแบบต่างๆ โดยมหาวิทยาลัยมุ่งหวังส่งเสริมให้ประชาชนในเขตเมือง และบุคลากรผู้ปฏิบัติงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความพร้อมในการรับมือภัยพิบัติและสามารถปรับฟื้นคืนสู่สภาพปกติได้ดีหลังเกิดสถานการณ์ภัยพิบัติ (Urban Disaster Resilience) ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช จึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการจัดตั้ง “คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสุขภาพ” เพื่อรับผิดชอบการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรต่างๆ รวมทั้งการสร้างเครือข่ายสหสาขาวิชาที่เน้นการบูรณาการองค์ความรู้ด้านศาสตร์เขตเมืองโดยเฉพาะ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสุขภาพ                      

 วันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๖๑ ประกาศมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชในราชกิจจานุเบกษา เรื่อง การจัดตั้งส่วนงานในมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช พ.ศ. ๒๕๖๐ ให้จัดตั้งส่วนงาน “คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสุขภาพ” เป็นส่วนงานลำดับที่ ๗ ของมหาวิทยาลัย มีภาระหน้าที่ความรับผิดชอบเกี่ยวกับการจัดการศึกษา การพัฒนาหลักสูตร การจัดการศึกษาทั่วไป การพัฒนาคุณภาพการศึกษา เพื่อผลิตบัณฑิตและบุคลากร ในสาขาวิชาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสุขภาพ การวิจัยเพื่อพัฒนางานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสุขภาพ การให้บริการทางวิชาการและวิชาชีพแก่สังคม ตลอดจนการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น สิ่งแวดล้อม กีฬา ค่านิยมอันดีงามของไทย และวัฒนธรรมองค์กร รวมทั้งภาระหน้าที่อื่นตามที่อธิการบดีมอบหมาย